วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

"สมัคร"ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคมะเร็ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
โดยอาการของนายสมัครได้ทรุดหนัก วันที่ 23 พฤศจิกายน แพทย์ได้นำเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู แต่อาการไม่ดีขึ้น ที่สุดถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 74 ปี
ขณะเดียวกันญาติได้เตรียมนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามพร้อมจะจัดให้มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันที่ 25 พฤศจิกายน
ทั้งนี้นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของประเทศไทย เข้ารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์หลังจากได้เดินทางไปรักษาโรคมะเร็งที่ขั้วตับ ที่ลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 และกลับมาเมืองไทย วันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2552 โดยเมื่อนายสมัคร เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา ก็พักฟื้นที่บ้านพักมาตลอดและไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเลย และไม่มีข่าวความเคลื่อนไหว หรือการรักษาตัวแต่อย่างใด ก่อนเข้ารักษาตัวโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในเวลาต่อ

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เตือนภัย เหน็บมือถือกับเอวเป็นโทษ



เตือนผู้ที่เหน็บโทรศัพท์มือถือไว้ที่เอว อาจจะสนใจบ้าง เมื่อมีข่าวว่ารังสีแม่เหล็กไฟฟ้าของมัน ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกแถวสะโพก มักเอาไปใช้ในการปลูกถ่ายกระดูกอยู่เสมอ ให้บางลงได้


คณะนักวิจัยของ ดร.ทอลกา อาทาย มหาวิทยาลัย สุไลมาน เดมิเรล ของตุรกี ได้พบว่า การโดนถูกสนามรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าของโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ อาจทำให้กระดูกบางลงได้ ซึ่งอาจจะกระทบถึงผลของการทำศัลยกรรมปลูกถ่ายกระดูก

นักวิจัยได้ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกตรงปีกสะโพกทั้ง 2 ปีก ของผู้ที่เหน็บโทรศัพท์อยู่กับเข็มขัด จำนวน 150 คน เปรียบเทียบกัน บุคคลเหล่านี้ต่างพกโทรศัพท์กับตัวอยู่นานวันละ 15 ชม. และใช้มานานเฉลี่ยคนละ 6 ปีแล้ว ได้ผลว่ากระดูกปีกสะโพกข้างที่เหน็บโทรศัพท์อยู่เป็นประจำ มีความบางลงเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่มากเท่าขนาดที่เห็นในผู้เป็นโรคกระดูกพรุน แต่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนเหล่านั้นยังเพิ่งมีอายุเฉลี่ย 32 ปี ด้วยกัน ความหนาแน่นของกระดูกอาจจะลดน้อยลงไปอีกได้


กระดูกบริเวณนั้น มักจะถูกใช้ในการผ่าตัดปลูกถ่ายกระดูกอยู่ประจำ ดังนั้นหากคุณสมบัติเสื่อมลง ก็อาจจะเกิดผลเสียกับการผ่าตัดฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพได้

คณะนักวิจัยบอกสรุปความเห็นว่า "ถึงจะอย่างไร ควรจะเอาโทรศัพท์มือถือให้ห่างตัวเราไว้ในชีวิตประจำวันจะดีกว่า"





เตือน“ผักชี” มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนมากสุด



สธ.เผยผลการตรวจสอบสารปนเปื้อน 6 ชนิดในอาหารสด รอบ 9 เดือน พบร้อยละ 99 ผ่านเกณฑ์ไร้การปนเปื้อน ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ตรวจพบยาฆ่าแมลงในผักชีมากที่สุด



นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากร้านอาหารมีจำนวนมาก และขณะนี้ตามชนบทมักนิยมจัดตลาดนัด มีสินค้าต่างๆ จำนวนมากราคาค่อนข้างต่ำ บางครั้งมองตาเปล่าไม่รู้ว่าอาหารมีความปลอดภัยหรือไม่ เพื่อร่วมกันรณรงค์คุ้มครองประชาชนให้ได้บริโภคอาหารปลอดภัยและมีสุขภาพดี กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ "โครงการรณรงค์ทำดีเพื่อแม่ อาหารปลอดภัย" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยเรื่องความปลอดภัยอาหาร
ทั้งยังทรงปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่างในการเสวย โดยจัดทำไปรษณียบัตร 1 ล้านฉบับ ส่งไปยังที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง ให้ผู้ประกอบการอาหารและประชาชน ร่วมเขียนบันทึกกิจกรรมการทำความดี แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสุขภาพและความปลอดภัยผู้บริโภคในไปรษณียบัตร และส่งกลับไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา หลังจากนั้นจะรวบรวมรายชื่อ พร้อมผลการดำเนินงานเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จแม่แห่งแผ่นดิน ในวันที่ 12 สิงหาคม 2552



ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการตรวจสอบสารปนเปื้อนอันตราย 6 ชนิดในอาหารสด ได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง บอแรกซ์ สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน สารกันรา และยาฆ่าแมลง โดยหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ตุลาคม 2550-มิถุนายน 2551 ได้ตรวจตัวอย่างทั้งหมด 56,425 ตัวอย่าง พบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 99.25 ไม่ผ่านเกณฑ์ 421 ตัวอย่าง โดยตรวจพบยาฆ่าแมลง 352 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นผักสด พบมากที่สุดในผักชี จำนวน 47 ตัวอย่าง รองลงมาคือพริกชี้ฟ้าแดง 24 ตัวอย่าง พริกเหลือง 16 ตัวอย่าง พริกขี้หนูแดงใหญ่ 13 ตัวอย่างและยังตรวจพบในกุ้งแห้ง หมึกกะตอย ปลาอินทรีย์เค็ม ปลาแดดเดียวเช่น ปลาสลิด ปลาสละ ปลานิล อย่างละ 1-2 ตัวอย่าง



นอกจากนี้ยังตรวจพบสารบอแรกซ์ 56 ตัวอย่าง พบมากที่สุดในเนื้อหมู 10 ตัวอย่าง เนื้อหมูบด 6 ตัวอย่าง ที่เหลือพบในเนื้อปูแกะ ปลาดุกย่าง ขนมถ้วยแคระ ตรวจพบฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่างในหมึกแช่ด่าง ปลาหมึกกล้วย ขิงอ่อนซอย ส่วนสารเร่งเนื้อแดงพบ 4 ตัวอย่างในเนื้อหมูทั้งหมด และสารกันรา 1 ตัวอย่าง พบในพริกแกงเขียวหวาน ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดการแก้ไขถึงแหล่งผลิตแล้วว